วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การเรียงความ

การเรียงความ

[แก้ไข] ความหมายของเรียงความ

         เรียงความ เป็นงานเขียน ร้อยแก้ว ชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนมุ่งถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ ความคิด และทัศนคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยถ้อยคำสำนวนที่เรียบเรียงอย่างมีลำดับขั้นและสละสลวย

[แก้ไข] องค์ประกอบของเรียงความ

         มี ๓ ส่วนใหญ่ ๆ คือ

[แก้ไข] คำนำ

        เป็นส่วนแรกของเรียงความ ทำหน้าที่เปิดประเด็น ดึงดูดความสนใจ พิถีพิถัน คำนึงถึงเรื่องที่ตนจะเขียน เน้นศิลปะในการใช้ภาษา

การเขียนคำนำ ควรยึดแนวทางต่อไปนี้

  • ไม่ยืดยาด เยิ่นเย้อ
  • ไม่ควรกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง
  • ไม่ควรซ้ำกับส่วนสรุปหรือความลงท้าย
  • อาจหาคำคม สำนวน สุภาษิต หรือบทกวีที่ไพเราะและเกี่ยวกับเนื้อเรื่องมาเป็นคำนำก็ได้

[แก้ไข] เนื้อเรื่อง

        เป็นส่วนสำคัญและยาวที่สุดของเรียงความ ประกอบด้วย ความรู้ ความคิด และข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้า และเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ระเบียบ การเขียนเนื้อเรื่องเป็นการขยายความในประเด็นต่าง ๆ ตามโครงเรื่องที่วางไว้ล่วงหน้าแล้ว ในการเขียนอาจมีการยกตัวอย่าง การอธิบาย การพรรณนา หรือยกโวหารต่าง ๆ มาประกอบด้วย โดยอาจจะมีย่อหน้าหลายย่อหน้าก็ได้

การเขียนเนื้อเรื่องควรยึดแนวทางต่อไปนี้

  • ความถูกต้อง แจ่มแจ้งสมบูรณ์ ผู้อ่านสามารถเข้าใจเจตนารมณ์ของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรียกว่ามีสารัตถภาพ
  • ใจความสำคัญแต่ละย่อหน้า จะต้องมีเพียงใจความเดียว ไม่ออกนอกเรื่อง สับสน วกวน ซึ่งเรียกว่ามีเอกภาพ
  • เนื้อหาในแต่ละย่อหน้าจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันโดยตลอด ย่อหน้าที่มาหลังจะต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับย่อหน้าที่มาก่อน ซึ่งเรียกว่ามีสัมพันธภาพ

[แก้ไข] สรุป

        เป็นส่วนสุดท้าย หรือย่อหน้าสุดท้ายในเรียงความแต่ละเรื่อง ผู้เขียนจะทิ้งท้ายให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ สอดคล้องกับเรื่องที่เขียน กระชับรัดกุม ซึ่งการเขียนสรุปมีหลายวิธี เช่น ฝากข้อคิด และความประทับใจให้ผู้อ่านย้ำความคิดสำคัญของเรื่อง ชักชวนให้ปฏิบัติตาม ให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน ตั้งคำถามที่ชวนให้ผผู้อ่านคิดหาคำตอบ และยกคำพูด คำคม สุภาษิต หรือบทกวีที่น่าประทับใจ เป็นต้น การเขียนสรุปควรยึดแนวทางต่อไปนี้

  • เขียนสั้น ๆ ไม่เยิ่นเย้อ (ความยาวควรจะเท่า ๆ กับคำนำ)
  • อาจสรุปโดยการอ้อนวอน เชิญชวนหรือแสดงความคิดเห็น
  • ควรหลีกเลี่ยงคำขออภัย หรือคำออกตัวว่าผู้เขียนไม่มีความรู้
  • ไม่ควรเสนอประเด็นใหม่เข้ามาอีก

[แก้ไข] ขั้นตอนการเขียนเรียงความ

[แก้ไข] การเลือกเรื่อง

        หากจะต้องเป็นผู้เลือกเรื่องเองแล้ว ควรเลือกตามความชอบ หรือความถนัดของตนเอง

[แก้ไข] การค้นคว้าหาข้อมูล

        อาจทำได้โดยการค้นคว้าจากหนังสือ นิตยสาร วารสาร อินเทอร์เน็ต หรือสื่ออื่น

[แก้ไข] วางโครงเรื่อง

        เมื่อได้หัวข้อเรื่องแล้ว ต้องวางโครงเรื่อง โดยคำนึงถึงการจัดการ จัดลำดับหัวข้อเรื่องที่จะเขียนให้สัมพันธ์ ต่อเนื่องกัน เช่น

  1. จัดลำดับหัวข้อตามเวลาที่เกิด
  2. จัดลำดับหัวข้อจากหน่วยเล็กไปสู่หน่วยใหญ่
  3. จัดลำดับตามความนิยม

        โครงเรื่องของงานเขียนควรจัดหมวดหมู่ของแนวคิดสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการเขียน โครงเรื่องเปรียบเสมือนแปลนบ้าน ผู้สร้างบ้านจะต้องใช้แปลนบ้านเป็นแนวทางในการสร้างบ้าน การเขียนโครงเรื่องจึงมีความสำคัญทำให้ผู้เขียนเรียงความเขียนได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ถ้าไม่เขียนโครงเรื่องหรือไม่วางโครงเรื่อง เรียงความอาจจะออกมาไม่ตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ

[แก้ไข] การเรียบเรียง

        ตามรูปแบบของเรียงความ ตามองค์ประกอบ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป (บางคนอาจเขียนคำนำหลังสุดก็ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน)

[แก้ไข] ลักษณะของเรียงความที่ดี

        นอกจากต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง ๓ ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป แล้วยังต้องมีลักษณะดังนี้อีกด้วย

[แก้ไข] เอกภาพ

        คือ ในแต่ละย่อหน้า ความคิดสำคัญต้องมีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกันกับหัวข้อเรื่อง

[แก้ไข] สัมพันธภาพ

        คือ ต้องมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่อง โดยจะต้องมีการวางโครงเรื่องที่ดี จัดลำดับย่อหน้าอย่างมีระบบระเบียบ เรียบเรียงด้วยคำเชื่อมที่เหมาะสม

[แก้ไข] สารัตถภาพ

        คือ มีเนื้อหาสาระที่สมบูรณ์ตลอดทั้งเรื่องโดยในแต่ละย่อหน้า ประโยคสำคัญต้องชัดเจน ประโยคขยายมีน้ำหนักเชื่อถือได้ ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อช่วยเน้นย้ำให้ประโยคใจความสำคัญมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • ถวัลย์ มาศจรัส. นวัตกรรมทางการศึกษา ชุด บทเรียนแบบโปรแกรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย. กรุงเทพฯ : ธารอักษร, ๒๕๔๘
  • นิติภูมิ นวรัตน์. ภาษาไทย ฉบับเตรียมสอบ . กรุงเทพฯ : มิตรภาพการพิมพ์, ๒๕๔๙
  • เสนีย์ วิลาวรรณ, สุระ ดามาพงษ์, ชัยวัฒน์ สีแก้ว หนังสือหลักการใช้ภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๓ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน , ว.พ. ๒๕๔๔
  • วิกิพีเดียไทย

http://galyani.panyathai.or.th/wiki/index.php/การเรียงความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น